ดาวน์โหลด 

สารคดีเฉลิมพระเกียรติ มรดกศิลป์ แผ่นดินไทย ตอนที่ 2 ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค หมายถึง ริ้วขบวนเรือพระราชพิธีที่จัดขึ้นสำหรับพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเรือพระราชพิธี คือ เรือพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่ประทับในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินไปในการต่างๆ
ทั้งเป็นการส่วนพระองค์ และที่เป็นการพระราชพิธีโดยทางน้ำ ซึ่งได้ประกอบการมาแต่โบราณ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยสืบทอดต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ และจนถึงปัจจุบัน
แต่เดิมขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเป็นการเสด็จพระราชดำเนิน เพื่อประกอบการพระราชพิธีต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
การเสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี การอัญเชิญพระพุทธรูปที่สำคัญจากหัวเมือง เข้ามาประดิษฐานในเมืองหลวง ตลอดจนการต้อนรับราชทูตจากต่างประเทศ รวมถึงการพระบรมศพและพระศพ
สำหรับการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคนี้ มีวิวัฒนาการมาจากการจัดขบวนทัพเรือในยามที่ว่างศึก เพื่อเป็นการฝึกซ้อมเรียกระดมพล โดยที่กองเรือเหล่านี้จะตกแต่งอย่างสวยงาม
มีการประโคมดนตรีไปในขบวน เพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนาน และพลพายเกิดความฮึกเหิมเป็นการแสดงออก ถึงความเป็นเอกลักษณ์ ทางด้านวัฒนธรรมประเพณีอย่างหนึ่งของชาติ
แสดงถึงพระบารมีแผ่ไพศาลของพระมหากษัตริย์อันเป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญ และเป็นที่พึ่งแด่พสกนิกรทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร โดยทั่วไปการจัดริ้วกระบวนได้แบ่งออกเป็น 2 แบบ
เรียกว่า ขบวนพยุหยาตราใหญ่ และขบวนพยุหยาตราน้อย ซึ่งเรือพระที่นั่ง จะแวดล้อมไปด้วยริ้วขบวนเรือของขุนนาง และทหารในกอง กรมต่างๆ ที่เรียกว่าเรือหลวง มีการจัดเรียงลำดับเรือต่างๆ
ตามแบบแผนของการจัดทัพที่มีมาแต่โบราณ แบ่งออกเป็น 5 ตอน คือ ขบวนนอกหน้า ขบวนในหน้า ขบวนเรือพระราชยาน ขบวนในหลัง และขบวนนอกหลัง เต็มไปด้วยความสวยงาม ความโอ่อ่าตระการตา
และความมีระเบียบสมกับเป็นประเพณีของชาติ ที่มีอารยธรรมอันสูงส่งมาแต่โบราณกาล
 
 

ไฟล์แนบ
  

จำนวนการเข้าชม 3,132 ครั้ง