คำเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

เบญจสุทธคงคา

เบญจสุทธคงคา [เบ็น-จะ-สุด-ทะ-คง-คา]

          เบญจสุทธคงคา [เบ็น-จะ-สุด-ทะ-คง-คา] หมายถึง แม่น้ำที่บริสุทธิ์ ๕ สาย อนุโลมว่าเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับปัญจมหานทีในประเทศอินเดีย
แม่น้ำ ๕ สายดังกล่าวได้แก่ ๑. แม่น้ำบางปะกง ตักน้ำที่บึงพระอาจารย์ แขวงเมืองนครนายก ๒. แม่น้ำป่าสัก ตักน้ำที่ตำบลท่าราบ แขวงเมืองสระบุรี
๓. แม่น้ำเจ้าพระยา ตักน้ำที่ตำบลบางแก้ว แขวงเมืองอ่างทอง ๔. แม่น้ำราชบุรี ตักน้ำที่ตำบลดาวดึงส์ แขวงเมืองสมุทรสงคราม และ ๕. แม่น้ำเพชรบุรี ตักน้ำที่ตำบลท่าไชย แขวงเมืองเพชรบุรี
น้ำจากเบญจสุทธคงคาเริ่มใช้ครั้งแรกในพระราชพิธีราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยเจือกับน้ำจากสระเกษ สระแก้ว สระคงคา สระยมนา [ยม-มะ-นา] ในแขวงเมืองสุพรรณบุรี
          ต่อมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
[พฺระ-บาด-สม-เด็ด-พฺระ-ปอ-ระ-มิน-ทฺระ-มะ-หา-พู-มิ-พน-อะ-ดุน-ยะ-เดด บอ-รม-มะ-นาด-บอ-พิด]
ได้นำน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญอื่น ๆ เจือน้ำจากเบญจสุทธคงคาด้วย

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

จำนวนการเข้าชม 5,029 ครั้ง  

Close menu