น้ำสรงพระมุรธาภิเษก
น้ำสรงพระมุรธาภิเษก
น้ำสรงพระมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก [บอ-รม-มะ-รา-ชา-พิ-เสก] เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ได้จากแหล่งน้ำสำคัญ
ในสมัยอยุธยาใช้น้ำจากสระสำคัญ ๔ สระในแขวงเมืองสุพรรณบุรี สมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ เพิ่มน้ำจากแม่น้ำสำคัญของประเทศอีก ๕ สาย
เรียกว่า “เบญจสุทธคงคา” [เบ็น-จะ-สุด-ทะ-คง-คา] ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก [บอ-รม-มะ-รา-ชา-พิ-เสก]
ครั้งที่ ๒ เพิ่มน้ำจากแม่น้ำ ๕ สายในประเทศอินเดีย ซึ่งเรียกว่า “ปัญจมหานที” ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ เมื่อมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช [บอ-รม-มะ-รา-ชา-พิ-เสก-สม-โพด] พ.ศ. ๒๔๕๔
เพิ่มน้ำที่ตักจากแม่น้ำและแหล่งน้ำอื่น ๆ ที่ตามมณฑลต่าง ๆ ถือว่าเป็นแหล่งสำคัญและเป็นสิริมงคล โดยทำพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์
ณ พระมหาเจดียสถาน [พฺระ-มะ-หา-เจ-ดี-ยะ-สะ-ถาน] สำคัญ ๗ แห่ง และวัดสำคัญในมณฑลต่าง ๆ ๑๐ มณฑล
ในรัชกาลที่ ๗ ทำพิธีเสกน้ำเพิ่มจากที่ทำในรัชกาลที่ ๖ อีกแห่งหนึ่ง คือที่พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ ล่วงมาถึงรัชกาลที่ ๙ ทำพิธีเสกน้ำ ๑๘ แห่งเท่าสมัยรัชกาลที่ ๗
แต่เปลี่ยนสถานที่จากเดิม ๒ แห่ง คือเปลี่ยนจากวัดมหาธาตุเมืองเพชรบูรณ์และพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ เป็นบึงพลาญชัย [บึง-พะ-ลาน-ไช] จังหวัดร้อยเอ็ด และพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------