การเตรียมน้ำอภิเษก และน้ำสรงพระมุรธาภิเษก 

ข้อมูลแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ และสถานที่ประกอบพิธีทำน้ำอภิเษก ในจังหวัดอ่างทอง

 

แหล่งน้ำที่จะใช้ในการประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำสำหรับทำน้ำอภิเษกของจังหวัดอ่างทอง

จังหวัดอ่างทอง ได้กำหนดแหล่งน้ำที่จะใช้ในการประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำสำหรับทำน้ำอภิเษกของจังหวัดอ่างทอง จำนวน 2 แห่ง คือ

          1. แหล่งน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงหน้าพระอุโบสถของวัดไชโยวรวิหาร อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง
ซึ่งวัดไชโยวรวิหารเป็นวัดหลวง เป็นที่ประดิษฐานพระมหาพุทธพิมพ์ หลวงพ่อโตองค์ใหญ่ ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
สร้างขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และปฏิสังขรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
และวัดไชโยวรวิหารยังเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) นอกจากนี้ อำเภอไชโย ยังเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์
เมื่อปีพุทธศักราช 2128 เคยเป็นสมรภูมิรบระหว่างทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับทัพของพระเจ้าเชียงใหม่นรธาเมงสอ ที่ตำบลสระเกศ แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ
และทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้รับชัยชนะ ไพร่พลทุกคนมีความปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงพร้อมใจกันเปล่งเสียง “ไชโย”
สำหรับแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าพระอุโบสถวัดไชโยวรวิหาร อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง มีความกว้าง 145 เมตร จุดที่จะตักน้ำอภิเษก
อยู่ตรงกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ที่ระยะห่างจากตลิ่ง ระยะทาง 72.5 เมตร แหล่งน้ำที่จะใช้ในการประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำสำหรับทำน้ำอภิเษกของจังหวัดอ่างทอง 

            แหล่งที่ 2.คือ แหล่งน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางแก้ว ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่มีความสำคัญ คือ
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 4 และรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9
ได้ใช้น้ำจากแม่น้ำสำคัญในประเทศ 5 สาย ซึ่งแหล่งน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางแก้ว ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง
เป็นหนึ่งในแหล่งน้ำที่ใช้ทำพิธีเสกน้ำสำหรับถวายเป็นน้ำอภิเษกและน้ำสรงมูรธาภิเษกในพระราชพิธีเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติบรมราชาภิเษก
และใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาตักที่กลางแม่น้ำเจ้าพระยาปากคลองบางแก้ว ตำบลบางแก้ว มาประกอบพิธีเสกน้ำ
เพื่อใช้ในการประกอบพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 5 รอบ
เมื่อปี พ.ศ. 2542 ทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ในการประกอบพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ ในปี พ.ศ. 2554

ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาปากคลองบางแก้ว ตำบลบางแก้ว มีความกว้าง 150 เมตร จะทำพิธีตักน้ำที่กึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาห่างจากตลิ่งระยะทาง 75 เมตร 
โดยจะนำน้ำที่ตักทั้ง 2 ที่ คือ บริเวณกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงหน้าพระอุโบสถของวัดไชโยวรวิหาร อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง
กับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาตักที่กลางแม่น้ำเจ้าพระยาปากคลองบางแก้ว ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง
รวมกันทำน้ำอภิเษกของจังหวัดอ่างทอง ณ พระอุโบสถวัดไชโยวรวิหาร อำเภอไชไย จังหวัดอ่างทอง
เพื่อนำน้ำอภิเษกเข้าร่วมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 6 พฤษภาคม 2562 

ที่มา : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอ่างทอง

จำนวนการเข้าชม 3,182 ครั้ง