ข่าวประชาสัมพันธ์ 

รองนายกรัฐมนตรี เผยความคืบหน้าการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พร้อมเชิญชวนประชาชนสวมใส่เสื้อสีเหลือง ระหว่างเดือนเมษายน - เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒ โดยพร้อมเพรียงกัน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายจัดพิธีการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการฝ่ายจัดพิธีการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๒/๒๕๖๒
เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ณ ห้องประชุม ๑๐๙ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดเขตการจัดงานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ระหว่างวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ - ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๓ และพระราชทานแบบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วยแล้ว ตามที่รัฐบาลได้กราบบังคมทูลขึ้นไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ได้แก่ คณะอนุกรรมการฝ่ายการจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกร
คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำน้ำอภิเษก คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในการเสด็จเลียบพระนคร
คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดคณะทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล
คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค และคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุ โดยการดำเนินงานของคณะกรรมการฝ่ายจัดพิธีการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีดังนี้

  •  การจัดทำน้ำอภิเษก กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งให้จังหวัดสำรวจแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญตามโบราณราชประเพณีที่ใช้ในการพระราชพิธีภายในจังหวัด โดยแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ

ส่วนที่ ๑ น้ำสรงมุรธาภิเษก เป็นน้ำที่ตักจากสระศักดิ์สิทธิ์ ๔ สระ ของ จังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบด้วย สระแก้ว สระคา สระยมนา สระเกษ ตำบลสระแก้ว อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี และน้ำจากแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ๕ สาย เรียกว่า เบญจสุทธคงคา ประกอบด้วย (๑) แม่น้ำบางปะกง ตักที่บึงพระอาจารย์ ตำบลพระอาจารย์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก (๒) แม่น้ำป่าสัก ตักที่บริเวณบ้านท่าราบ ตำบลต้นตาล อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี (๓) แม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่บริเวณปากคลองบางแก้ว ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง (๔) แม่น้ำราชบุรี ตักที่บริเวณสามแยกคลองหน้าวัดดาวดึงส์ ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และ (๕) แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ ตำบลสมอพลือ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี

ส่วนที่ ๒ น้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ใน ๗๖ จังหวัด จำนวน ๑๐๗ แหล่งน้ำ และจากหอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง จำนวน ๑ แหล่งน้ำ รวมแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งสิ้น ๑๐๘ แหล่งน้ำ ใช้เป็นน้ำอภิเษก

การจัดทำเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และการจัดทำเสื้อสีเหลืองประดับตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก มอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นหน่วยงานจัดทำเพื่อจำหน่าย โดยนำเงินรายได้จากการจำหน่ายเข็มที่ระลึกฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย (หน่วยงานของรัฐและผู้ประสงค์จะเชิญตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกไปประดับบนเสื้อหรือสิ่งของจะต้องเสนอคณะอนุกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกก่อนดำเนินการ)

นอกจากนี้ รัฐบาลขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ประดับตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเชิญชวนแต่งกายด้วยเสื้อสีเหลือง ระหว่างเดือนเมษายน - เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒ โดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย ในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกดังกล่าว


 ที่มาข้อมูล : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

จำนวนการเข้าชม 4,611 ครั้ง