ข่าวประชาสัมพันธ์ 

น้อมพระราโชบาย ร.10 ฟื้นคลองแลนด์มาร์กใหม่ ปรับภูมิทัศน์เนรมิตสภาพ “น้ำดำให้เป็นน้ำใสสะอาด” พัฒนาริมทางมีระเบียบสวยงาม สอดคล้องกลมกลืนแหล่งพื้นที่ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์

น้อมพระราโชบาย ร.10 ฟื้นคลองแลนด์มาร์กใหม่
 
ครั้นเมื่อ “คลองคูเมืองเดิม” ที่เรียกรู้จักกัน “คลองหลอด” ถูกปรับภูมิทัศน์เนรมิตสภาพ “น้ำดำให้เป็นน้ำใสสะอาด” พัฒนาริมทางมีระเบียบสวยงาม สอดคล้องกลมกลืนแหล่งพื้นที่ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่เชื่อมต่อกันมาระหว่างกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์...
 
ในย่านสำคัญนี้...ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “โบราณสถาน” เป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ดูแลให้เกิดความสะอาดสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย และมีความปลอดภัยมากขึ้น ที่จะสามารถดึงเอาเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ เพื่อสร้างเศรษฐกิจให้กับประชาชนได้ตามมา...
 
กระทั่ง...“รัฐบาล” กำหนดให้หน่วยงานดำเนินโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562 มุ่งการฟื้นฟูการพัฒนาลำน้ำ คูคลอง เพื่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชน ทำให้ถนนสวยงามด้วยการปลูกต้นไม้และสีสันดอกไม้หลายสี
 
มีแนวทางการอนุรักษ์พัฒนาคลองนี้ โดยน้อมนำแนวพระราโชบาย ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยราชการในพระองค์ร่วมกับหน่วยราชการต่างๆ และภาคประชาชน ร่วมใจกันบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ด้วยกิจกรรม “เราทำความดีด้วยหัวใจ”
 
ทำให้เกิด “แผนพัฒนา” ปรับปรุงภูมิทัศน์คลองในเกาะรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่คลองคูเมืองเดิม คลองหลอดวัดราชนัดดา คลองหลอดวัดราชบพิธ คลองบางลำพู คลองผดุงกรุงเกษม คลองวัดตรีทศเทพ คลองวัดสังเวช
 
เริ่มพัฒนาด้วยการทำความสะอาดคลอง ล้างขัดเขื่อนริมคลอง และทาสีให้สวยงามเหมาะสมตลอด 2 ฝั่งคลอง ระยะทาง 7,300 เมตร นอกจากนี้ ยังจะปรับภูมิทัศน์โดยรอบพื้นที่ ทำความสะอาดถนน ทางเท้าตัดแต่งต้นไม้ มีการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง ขุดลอกคูคลอง ปรับสภาพแหล่งเสื่อมโทรม จนมีคุณภาพในระดับพอใช้ถึงระดับดี...
 
ที่มีแม่งาน...“กระทรวงกลาโหม” ร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และกรุงเทพมหานคร รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และภาคเอกชน จัดทำโครงการเพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำคลองคูเมืองเดิม ที่เชื่อมจากแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงบริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า ไปยังปากคลองตลาด ระยะทาง 1.7 กิโลเมตร
 
อีกทั้งพัฒนาคลองเชื่อมต่อ...ทั้งคลองหลอดวัดราชนัดดา คลองหลอดวัดราชบพิธ ให้ใสสะอาด สวยงาม มีการนำสายไฟฟ้า สายสื่อสารลงใต้ดิน และดำเนินการย้ายคนเร่ร่อนอาศัยในพื้นที่ไปอยู่สถานสงเคราะห์ของภาครัฐ ในการปรับปรุงภูมิทัศน์ริม 2 ฝั่ง ให้เหมาะสมเป็นแหล่งท่องเที่ยวสันทนาการที่เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่
 
หากย้อยถึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ “คลองคูเมืองเดิม” เกิดขึ้นในครั้งสมัย “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ถือเป็นคลองแนวเขตพระนคร ป้องกันมิให้ข้าศึกยกมาแล้วสามารถเข้ามาประชิดติดเมืองหลวงได้โดยง่าย เพราะดินจากการขุดคลองก็นำมาให้พูนขึ้นเป็นเชิงเทินตั้งค่ายไม้ทองหลางทั้งต้นตลอดแนวคลอง
 
ต่อมาราษฎรก็ตักน้ำใช้ทำประโยชน์อื่นจากคลองนี้ และถูกใช้เป็นเส้นทางสัญจรออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งทางทิศเหนือและทิศใต้
 
 
ดังนั้น “ผืนแผ่นดิน” ก็ได้ถูกล้อมด้วยน้ำ ด้านหนึ่ง...เป็นแม่น้ำเจ้าพระยา อีกด้าน...เป็นคลองคูเมือง ที่ขุดกันขึ้นมานี้ กลายเป็น “เกาะ” นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา...กระทั่งเกาะนี้ก็มีชื่อเรียกขานกัน “ในสมัยรัชกาลที่ 1” จวบจนปัจจุบันนี้ว่า “เกาะรัตนโกสินทร์” ถือได้ว่า “เป็นแผ่นดินที่มีความศักดิ์สิทธิ์”...
 
นอกจากจะเป็นที่ตั้ง “พระบรมมหาราชวัง” แล้วยังเป็นที่ตั้งของ “วัดพระศรีรัตนศาสดาราม” อันเป็นที่ประดิษฐาน “พระแก้วมรกต” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ทั้งยังเป็นที่ตั้งศาลหลักเมืองอีกด้วย
 
ทว่า...“สองฝั่งคลอง” ด้านหนึ่งยังถูกขนาบด้วยถนนอัษฎางค์ อีกด้านหนึ่งถูกขนาบด้วยถนนราชินี เรียงรายด้วยสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนต่างกราบไหว้บูชาหลายแห่ง อาทิ วัดบุรณศิริมาตยาราม วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
 
แต่กาลเวลาผันผ่าน “คลองคูเมืองเดิม” ก็เสื่อมโทรมลงอันเป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ ประกอบกับทุกวันจะมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาท่องเที่ยวสถานที่แห่งนี้วันละหลายพันคน ทั้งพากันชื่นชมความสวยงามของพระบรมมหาราชวัง หรือบ้างก็มากราบไหว้สักการะพระแก้วมรกต และศาลหลักเมือง...
 
สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปนี้ล้วนเป็นอุปสรรคยากต่อการบำรุงรักษา แม้หน่วยงานราชการบางแห่งจะย้ายไปตั้งพื้นที่อื่น แต่ “คน” และ “ยวดยาน” ยังขวักไขว่ไม่มีเวลาให้แผ่นดินได้พักผ่อนเช่นเดิม...
 
เมื่อมีการระบาดของโรคโควิด-19 ที่สร้างความหายนะไปทั่วทุกมุมโลก ทุกหัวระแหง ทำให้ผู้คนถูกบังคับให้ต้องอยู่กับบ้าน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวขาดหายไปโดยสิ้นเชิง
 
จนแผ่นดินได้มีโอกาสพักผ่อน เพื่อฟื้นคืนความเป็นธรรมชาติให้กลับมาสวยงามดังเดิม...
 
ในปี 2563...พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการดำเนินโครงการให้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน ด้วยการสานต่อ “โครงการคลองคูเมืองเดิมเฉลิมพระเกียรติ” ให้สอดคล้องยุทธศาสตร์ นโยบายรัฐบาล มุ่งเน้นเกี่ยวกับด้านการท่องเที่ยวในชุมชน และแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์
 
ใช้โอกาสนี้ระดมจิตอาสา ผนึกกำลังมาร่วมกับหลายหน่วยงาน ในการช่วยกันบูรณะ “คลองคูเมืองเดิม” ที่เป็นคูเมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้ ตลอดจน 2 ฟากฝั่งคลอง ให้คืนกลับมาสู่ความเป็นธรรมชาติ
 
นับจาก “คูคลอง” ที่น้ำเคยดำขุ่นด้วยโคลน กลับมาใสสะอาด สามารถแลเห็นฝูงปลาน้อยใหญ่เกาะกลุ่มเริงร่ากระซิบกัน และต้นไม้ที่เคยอับเฉาก็กลับมาเขียวสดฉ่ำตา ฝูงนก กา เคยขาดหายไปก็มีมาถลาร่อนบิน ส่งเสียงเย้าหยอกกันสนุกสนาน เพื่อรอนักท่องเที่ยวกลับมาชื่นชมความเป็นธรรมชาติทางประวัติศาสตร์กันอีกครั้ง
 
โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ชุมชนโดยรอบกระทรวงกลาโหม ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจ ด้วยการปลุกฟื้นคืนชีวิตให้ชุมชน ควบคู่กับการสืบค้นเรื่องราวประวัติศาสตร์ดั่งเดิม มีสถาปัตยกรรม และสิ่งปลูกสร้าง ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และทำการปรับปรุงสถาปัตยกรรมเดิมที่มีอยู่แล้วให้สวยงาม
 
เพื่อให้เป็นที่น่าสืบค้นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ และอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น ต้นตะเคียนที่ปลูกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 และต้นขนุนสมัยรัชกาลที่ 5 ค้นหาต้นทุนเดิมของท้องถิ่นในทุกมิติ ปรับปรุงทำความสะอาด ทาสี โครงสร้างพื้นที่ถนน ฟุตปาท และจัดระบบการจราจรใหม่ทั้งหมด
 
ทำให้เป็นจุดขายของการท่องเที่ยว ที่มีการส่งเสริมอาหารมากมาย ต่างมีความอร่อยระดับชั้นนำ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน
 
กลายเป็นจุดกำเนิดปรับโฉม “คลองหลอด” พัฒนาน้ำในคลองคูเมืองเดิมให้กลับมาใสสะอาด ริมคลอง และบริเวณสวนหย่อมอาคารบ้านเรือน มีการปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ให้มีความสวยงามเชิงอนุรักษ์แบบย้อนยุค และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทำให้ประชาชนผู้พักอาศัยและชุมชนใกล้เคียงมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
 
สร้าง “กรุงเทพฯ” มีเสน่ห์อย่างแตกต่าง...แต่กลมกลืนด้วยศิลปวัฒนธรรม มีความเป็นเมืองสมัยใหม่ จากการพัฒนาพื้นที่ชุมชนโดยรอบให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนรักษาความสะอาด รักท้องถิ่น รักชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของ ไม่ทิ้งขยะลงคลอง ทั้งให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาคลองด้วย
 
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า...“คลองคูเมืองเดิม” กลับกลายเป็น “สถานที่สุดคลาสสิกใจกลางกรุง” เต็มไปด้วยมนต์ขลังกลิ่นอายแห่งประวัติศาสตร์ “แลนด์มาร์กแห่งใหม่” แหล่งต้นกำเนิดย่านการค้าทั้งขายส่ง ค้าขายย่อย ทั้งตลาดบก และตลาดน้ำ ที่มีคลองเชื่อมต่อกับคลองมหานาคเดินทางออกนอกเขตพระนครทางฝั่งตะวันออกได้สะดวก
 
โครงการรักษ์คลองคูเมืองเดิมเฉลิมพระเกียรติ ยังได้จัดทำ “แอปพลิเคชัน” ในการตรวจสอบข้อมูลการท่องเที่ยว แนะนำสถานที่จุดสำคัญ ข้อมูลร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม สามารถเข้าถึงราคาโปรโมชันมากมาย ที่เป็นการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมเสมือนมีไกด์ส่วนตัวพาเที่ยวชุมชนคลองคูเมืองเดิมด้วยซ้ำ
 
วันนี้ “คลองน้ำดำ” ถูกเปลี่ยนภูมิทัศน์เนรมิตเป็น “คลองคูเมืองเดิม” ต่างมีเรื่องเล่ามากมาย กลายเป็นเส้นทางแหล่งเรียนรู้ “แลนด์มาร์กแห่งใหม่ ใจกลางกรุง” ที่พร้อมให้นักท่องเที่ยวเข้ามาค้นหาชื่นชมประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมไทยอันยาวนานนี้แล้ว...
 
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.thairath.co.th/news/local/1897393

 
 
 
จำนวนการเข้าชม 3,424 ครั้ง