หมวดข้อมูลเกี่ยวกับพระราชพิธีเบื้องปลาย 

ปี่ชวา

ปี่ชวา : เป็นเครื่องเป่าชนิดหนึ่งที่กำเนิดเสียงจากการสั่นสะเทือนของลิ้นปี่ สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลและดัดแปลงมาจากปี่ไฉนของอินเดีย
โดยเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีสำคัญต่างๆ แต่ครั้งอยุธยาตอนต้น เช่น กระบวนพยุหยาตรา การรำอาวุธ
หรือเข้าไปประสมในวงปี่พาทย์นางหงส์ วงปี่ชวากลองแขก (วงบัวลอย) เป็นต้น
ปี่ชวามีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ                    
เลาปี่ ทำจากไม้เนื้อแข็งหรืองาช้าง ยาวประมาณ 27 เซนติเมตร เหลากลึงได้รูป เจาะรูเป่า 7 รู โดยเรียงตำแหน่งนิ้วคล้ายขลุ่ย                   
ลำโพงปี่ ทำจากไม้เนื้อแข็งหรืองาช้าง นิยมใช้วัสดุเดียวกับเลาปี่ สามารถถอดแยกออกจากเลาปี่ได้เป็นอิสระ ตอนปลายของลำโพงบานออกเล็กน้อยเพื่อกระจายเสียง                   
ลิ้นปี่ ทำจากใบตาลแห้ง ตัดบางซ้อนกัน 4 ชิ้น แล้วผูกติดกับแท่งโลหะเล็กๆ (เรียกว่าการผูกแบบตะกรุดเบ็ด) ซึ่งทำจากนาก ทองเหลือง หรือเงิน
เรียกว่า “กำพวด” แล้วจึงนำปลายด้านหนึ่งของกำพวดเสียบเข้ากับรูบริเวณทวนบนของเลาปี่ ลิ้นปี่ของปี่ชวาจะมีขนาดยาวกว่าปี่ไฉนเล็กน้อย
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี
จำนวนการเข้าชม 3,427 ครั้ง