หมวดข้อมูลเกี่ยวกับพระราชพิธีเบื้องปลาย 

กลองมโหระทึก

กลองมโหระทึก : เป็นกลองชนิดหนึ่ง มีหน้าเดียว และหล่อด้วยโลหะ ไม่ขึงหนังเหมือนกลองทั่วๆ ไป ตัวกลองเป็นโลหะผสมประกอบด้วย ทองแดง ตะกั่ว และดีบุกผสมตามเกณฑ์
แล้วหลอมเทหล่อลงในแบบที่ทำไว้ บนหน้ากลองมีโลหะหล่อเป็นตัวกบอยู่ประจำ 4 ทิศ
ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่า กลองชนิดนี้แต่เดิมคงสร้างขึ้นสำหรับตีขอฝน เพราะเชื่อกันว่า เมื่อกบร้องแล้วจะเป็นเหตุให้ฝนตก (เสียงกลองเป็นเสมือนเสียงกบร้อง)
กลองมโหระทึกนี้ ไทยเรานิยมใช้ตีประโคมทั้งงานหลวง และงานราษฎร์มาแต่โบราณ (ปรากฏหลักฐานมีกล่าวถึงไว้ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงสมัยสุโขทัย)
และในปัจจุบันยังคงใช้ตีประโคมร่วมกับแตรสังข์ ในงานพระราชพิธีต่างๆ เช่น ในโอกาสที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตรา เป็นต้น
ในการใช้ไม้ตี 2 อัน ทำด้วยไม้รวกหรือไม้จริงเหลากลมเกลี้ยง ขนาดพอเหมาะ ตรงปลายที่ใช้ตีพันด้วยผ้าจนแน่นแล้วผูกเคียน หรือถักด้วยด้าย
กลองมโหระทึกจะอยู่ในประเภทเครื่องประโคมแตรและมโหระทึก ใช้ในการเสด็จออกขุนนาง หรือนำเสด็จพระราชดำเนินขบวนน้อย
โดยเป็นเครื่องทำเสียงของไทยภาคเหนือ จัดอยู่ในประเภทฆ้อง และเป็นของที่มีมาแต่โบราณ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี
จำนวนการเข้าชม 3,409 ครั้ง