หมวดข้อมูลเกี่ยวกับพระราชพิธีเบื้องปลาย 

กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค สมัยรัตนโกสินทร์ (ตอนปลาย)

กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค สมัยรัตนโกสินทร์ (สมัยรัชกาลที่ ๕ - ๘)

สมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือพระราชพิธี คือ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้ในสมัยนั้น เนื่องจากการทหารการทูต
และวัฒนธรรมยุโรปได้มีอิทธิพลต่อประเทศสยาม วิเทโศบายของประเทศจึงเป็นแบบยุโรปมากขึ้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ต่อเรือกำปั่นกลไฟเป็นจำนวนมาก เช่น เรือพระที่นั่งเวสาตรี เรือพระที่นั่งมหาจักรี เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ ฯลฯ
และได้มีชาวต่างประเทศมาดำรงตำแหน่งทางราชการทหารเรือมากขึ้น และที่สำคัญที่สุด โดยเสด็จประพาสยุโรปโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี เป็นเรือติดธงชาติไทยไปยังน่านน้ำยุโรปครั้งแรก
เสด็จฯ ออกจากกรุงเทพ วันที่ ๗ เมษายน ๒๔๔๐ เสด็จฯ กลับสู่พระนครวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๔๐
 
 
สมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเสด็จพยุหยาตราชลมารควัดอรุณราชวรารามโดยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๕๔ และได้มีการสร้างเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำใหม่ขึ้นแทนลำเดิมที่สร้างในสมัยรัชกาลพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) สร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๔๕๗
 
  
สมัยรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จประปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางชลมารค ใน“พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”
จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ (นับระบบปีปัจจุบันเป็น พ.ศ. ๒๔๖๙)
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินจากพระบรมมหาราชวัง บริเวณท่าราชวรดิษฐ์ เสด็จไปวัดอรุณราชวรารามโดยขบวนเสด็จพระราชดำเนินหยุหยาตราทางชลมารค
และเสด็จพระราชดำเนินคืนสู่พระบรมมหาราชวังด้วยขบวนหยุหยาตราทางชลมารคเช่นเดิม อันเป็นการเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกโดยครบถ้วนสมบูรณ์
 
 
สมัยรัชกาลที่ ๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มิได้มีการสร้างเรือพระราชพิธีอีกเลย แต่ได้ทรงอนุรักษ์สมบัติทางปัญญา ที่บรรพบุรุษได้มอบไว้ให้
สมบัติเหล่านี้อยู่ในสภาพที่ดีดุจแรกสร้าง และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบทอดต่อไปยังอนุชนรุ่นหลังชั่วกาลนาน
 
จำนวนการเข้าชม 2,818 ครั้ง