หมวดข้อมูลเกี่ยวกับพระราชพิธีเบื้องปลาย 

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ (๒)

บุษบกเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นองค์เดิมที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี กรมศิลปากร
ซึ่งกรมศิลปากร ได้เชิญไปซ่อม ตกแต่ง ปิดทอง ประดับกระจก ณ สำนักช่างสิบหมู่ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และเชิญมาติดตั้ง ประดับตัวเรือ ณ อู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ
เพื่อเชิญเรือฯ ไปจอดบริเวณท่าราชวรดิฐ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกฯ ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 4 - 6 พฤษภาคม 2562
และจะถูกเชิญมาใช้อีกครั้งในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดในช่วงเสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2562

บุษบก คือ ซุ้มยอดซึ่งมีหลังคาซ้อนชั้นเป็นยอดแหลม มีบันแถลงประดับโดยรอบ ซึ่งความหมายของบันแถลงนี้มีอยู่ว่า เป็นการจำลองอาคารหนึ่ง ๆ ด้วยการนำส่วนที่เรียกว่าหน้าบันมาซ้อนชั้นกันขึ้นไป
โดยมากซ้อนกันสามชั้น หมายความว่า การประดับด้วยบันแถลงนี้ เป็นการจำลองอาคาร สะท้อนความหมายของเรือนฐานานุศักดิ์ หรือเรือนฐานันดรสูงได้เช่นกัน
บุษบกเป็นเครื่องใช้ประกอบกับของสูงและของสำคัญมีคุณค่าอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นบุษบกเล็กหรือบุษบกขนาดใหญ่ล้วนแล้วแต่ใช้ประกอบประดิษฐานของสูงของสำคัญทั้งสิ้น
ดังที่ได้เห็นเช่นองค์พระแก้วมรกตก็ประดิษฐานในบุษบก พระพุทธสิหิงค์ก็ประดิษฐานในบุษบก สำหรับบุษบกขนาดใหญ่ก็จะเป็นที่ประทับขององค์พระมหากษัตริย์
เป็นงานที่ลงรักปิดด้วยทองคำเปลวแท้ ลงยาสีและประดับเพชรคริสตัลเพิ่มความสวยงามและมีคุณค่ายิ่งขึ้นไปอีก

ในส่วนของพวงมาลัยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นพวงมาลัยสีขาวเหลืองทอง คล้องลำคอเรือให้มีความสง่างาม ซึ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
กองทัพเรือได้ให้โรงเรียนสตรีวัดระฆัง เป็นผู้จัดทำพวงมาลัยสำหรับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และเรือพระที่นั่งลำอื่น ๆ ในพระราชพิธีฯ จำนวน 10 พวง
โดยพวงมาลัยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ประกอบด้วยส่วนที่ 1 ใช้ตาข่ายคลุมแกนพวงมาลัยดอกรักเทียม ทำลายสี่ก้านสี่ดอก ส่วนแกนใน ใช้ผ้าตาดสีเหลืองทอง
ขณะที่ ส่วนที่ 2 พวงกลาง เป็นเครื่องแขวนไทย รูปโครงดาว ที่มุมทั้งหกมุม มีพวงดอกไม้รูปทรงกลม พวงเล็กหกพวง และทัดหูเป็นดอกสีแดง และสีเหลืองความสูง 28 นิ้ว

 

ข้อมูลจาก กองทัพเรือโดยสำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
ภาพจาก rat studio

 

จำนวนการเข้าชม 7,985 ครั้ง