ดาวน์โหลด 

สารคดีเฉลิมพระเกียรติ มรดกศิลป์ แผ่นดินไทย ตอนที่ 1 เรือไทยคู่สายน้ำ

นับแต่อดีตชาวไทยมีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับสายน้ำ เปรียบเสมือนสายชีวิตที่หล่อเลี้ยงทุกสรรพสิ่ง เป็นเหตุผลที่ทำให้คนในสมัยโบราณ นิยมสร้างบ้านเรือนใกล้ริมน้ำกันเป็นส่วนมาก
ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ดังนั้น เรือ จึงเป็นพาหนะ สำคัญที่ใช้ในการสัญจรทางน้ำ การต่อเรือแต่ละลำ จึงคำนึงถึงความเหมาะสมของการใช้งาน ว่า จะนำไปใช้เพื่อการสัญจรไปมา
ใช้บรรทุกของไปขาย หรือ เป็นเรือรบเพื่อป้องกันข้าศึก และลำเลียงยุทโธปกรณ์ ทำให้ เรือ มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป เช่น เรือบด เรือแจว เรือฉลอม เรือแซ เรือสำเภา อีกทั้ง การตกแต่งเรือ ยังบ่งบอกถึงฐานะของผู้เป็นเจ้าของ
ซึ่งเรือของเจ้านาย และขุนนางชั้นสูงนั้น จะตกแต่งอย่างวิจิตรงดงาม ส่วนเรือของราษฎรทั่วไปนั้นไม่ตกแต่งลวดลายทำกันแบบเรียบง่าย นอกจากเรือจะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว
ยังถูกนำมาใช้ในพิธีทางศาสนาและความเชื่อที่สืบทอดกันมา โดยเฉพาะในช่วงเดือน 11 ที่จะนำมาใช้ในพิธีลอยกระทง เพื่อขอบคุณพระแม่คงคาที่ให้น้ำมาหล่อเลี้ยงชีวิต
และขอขมาที่ได้ล่วงเกินให้เกิดสิ่งสกปรก รวมถึงการบำเพ็ญบุญเนื่องในเทศกาลออกพรรษา ที่ชาวพุทธจะทำบุญด้วยการทอดกฐินยังวัดต่างๆ และจัดกันอย่างยิ่งใหญ่
การจัดขบวนเรือเชิญผ้ากฐิน จึงตกแต่งเรือให้มีความวิจิตรงดงามเท่าที่จะทำได้ และยิ่ง เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลของพระมหากษัตริย์ด้วยแล้ว
จะมีการจัดริ้วขบวนเรืออย่างสมพระเกียรติเรือพระที่นั่ง และเรือที่ใช้ในพระราชพิธีที่มีความงดงามอยู่แล้ว เมื่อจัดรวมเข้าเป็นขบวนเดียวกันยิ่งเพิ่มความสง่างาม
แสดงถึงพระบารมีที่แผ่ไพศาล ริ้วขบวนเรือนี้ เรียกว่า ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค นอกจาก จะใช้ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินซึ่งถือว่าเป็นการจัดขบวนเรือที่ยิ่งใหญ่แล้ว ยังมีพระราชพิธีอื่น
เช่น พระราชพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปที่สำคัญจากเมืองหนึ่งไปยังเมืองหนึ่ง พระราชพิธีรับพระราชสาส์น และราชทูตของพระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่น ที่ทรงส่งมาเป็นการเจริญพระราชไมตรี
และในโอกาสที่มีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ พระมหากษัตริย์ที่เสด็จขึ้นเสวยราชย์ใหม่ จะทรงแสดงพระบารมีให้พสกนิกรของพระองค์ได้ชื่นชม จึงมีการจัดขบวนพยุหยาตราเลียบพระนครขึ้น และประเทศไทย
ถือเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่ยังมีการจัดขบวนเรือพระราชพิธีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ

ไฟล์แนบ
  

จำนวนการเข้าชม 2,330 ครั้ง