สารคดีเฉลิมพระเกียรติ มรดกศิลป์ แผ่นดินไทย ตอนที่ 9 เรือพระราชพิธีสมัยรัชกาลที่ 4
ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2394 แล้ว ได้โปรดให้เสด็จเลียบพระนครทั้งทางสถลมารค และชลมารค
โดยเสด็จเลียบพระนครทางชลมารคในวันที่ 21 พฤษภาคม การเสด็จเลียบพระนครครั้งนี้ มีขบวนเรือเตรียมแห่รับเสด็จ 6 ตอน มีเรือพระนั่งอนันตนาคราช ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยเป็นเรือพระที่นั่งทรง
และเรือพระที่นั่งรองซึ่งเป็นเรือศรีอีก 2 ลำ รวมเรือในขบวนมีจำนวน 268 ลำ เจ้าพนักงานและพลพาย 10,000 คนเศษ ประกอบด้วย นายเรือ นายท้าย ฝีพาย คนถือธงท้าย พลสัญญาณ
คนถือฉัตรบังสูรย์ พัดโบก พระกลด คนขานยาวหรือคนเห่เรือ และเรือนอกขบวนอีกประมาณ 50 ลำเศษ ในสมัยรัชกาลที่ 4 นี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณะและตกแต่งเรือหลวงลำเก่าๆ
และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือใหม่ขึ้นอีก 7 ลำ การจัดริ้วขบวนเรือพระราชพิธีในสมัยนี้ กล่าวได้ว่ามีการจัดริ้วขบวน 2 อย่าง คือ ขบวนเรือพยุหยาตราใหญ่ชลมารค และขบวนพยุหยาตราน้อยชลมารค
ซึ่งการจัดริ้วขบวนเรือพยุหยาตราในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยกรุงศรีอยุธยาบ้างเพื่อให้มีความสวยงามและความโอ่อ่ายิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีการใช้เรือพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน
และในพระราชพิธีลอยพระประทีป หรือ ปัจจุบันคือพิธีลอยกระทง ซึ่งมีการประกอบพระราชพิธีโดยใช้เรือพระที่นั่ง และเรือดั้ง เรือกันด้วย