สารคดีเฉลิมพระเกียรติ มรดกศิลป์ แผ่นดินไทย ตอนที่ 7 เรือพระราชพิธีสมัยรัชกาลที่ 1
เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติในปี 2325
ทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะฟื้นฟูขนบประเพณี ตลอดจนศิลปกรรมและงานช่างฝีมือต่างๆ ให้กลับคืนดังเดิม ดังนั้นเรือพระราชพิธีจึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ และจัดสร้างขึ้นใหม่จากเดิมอีกหลายลำ
โดยเฉพาะเรือหลวงชื่อ “เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์” เพื่อเป็นพระราชพาหนะและในการแห่พระพุทธรูปทางน้ำ ซึ่งเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์นี้ มีการจัดสร้างครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยาต้นรัชกาลพระมหาจักรพรรดิ
สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคสมัยรัชกาลที่ 1 นั้น มีการกล่าวถึงเมื่อครั้งเสด็จไปพระราชทานกฐินทางชลมารค ณ วัดบางหว้าใหญ่ กับวัดหงส์ ทรงใช้ขบวนเรือ และเรือพระที่นั่ง
ได้แก่ เรือทรงพระกฐินใช้เรือพระที่นั่งใหญ่ แคร่จัตุรมุข เรือดั้งอาสาวิเศษ ซ้ายขวาชักเรือพระกฐิน เรือพระที่นั่งทรง คือเรือพระที่นั่งศรีสักหลาด เรือคู่ชัก 2 ลำ คือเรือพระที่นั่งทองแขวนฟ้าของบ้านใหม่
กับของโพเรียง เรือดั้งนำเสด็จ 4 คู่ เรือตามเสด็จ นอกจากจะมีขบวนหลวงที่จัดเป็นขบวนกรีธาทัพเรืออย่างโบราณแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท
และประชาราษฎร์ที่มีฐานะยังได้ตกแต่งเรือด้วยลักษณะต่างๆ เช่น ทำเป็นจระเข้ หอย ปลา และสัตว์น้ำต่างมาสมทบเข้าขบวน เป็นขบวนนำและขบวนตามขบวนหลวง
เรือบางลำมีวงปี่พาทย์และการละเล่นต่างๆ ไปในเรือด้วยซึ่งเรือดนตรีในขบวนนี้มีมาแต่โบราณแล้วเพื่อให้ฝีพายไม่เหน็ดเหนื่อยเร็วแต่ให้มีความสนุกสานไปด้วย นอกจากนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 1 ยังพบว่า
มีการใช้ขบวนเรือในงานพระเมรุด้วย แต่ไม่มากนัก เช่น งานพระเมรุพระบรมศพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งรัชกาลที่ 1 ได้เสด็จโดยขบวนทางชลมารค
ไปยังวัดยี่เรือ ปัจจุบัน คือ วัดอินทาราม ฝั่งธนบุรี ประกอบด้วยเรือพระที่นั่งศรีสักหลาด เรือพระที่นั่งทองแขวนฟ้า บ้านใหม่ และเรือพระที่นั่งทองแขวนฟ้า โพเรียง