สารคดีเฉลิมพระเกียรติ มรดกศิลป์ แผ่นดินไทย ตอนที่ 6 เรือพระราชพิธีสมัยกรุงธนบุรี
ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เรือพระราชพิธีถูกทำลายเป็นอันมาก อีกทั้งช่างฝีมือต่างล้มตายไปเป็นจำนวนมาก เมื่อล่วงมาถึงสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
จึงมีพระราชดำริให้ฟื้นฟูการฝึกหัดช่างฝีมือขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นกำลังในการก่อสร้างบรรดาถาวรวัตถุและศิลปวัตถุอื่นๆทั้งในฝ่ายการพระศาสนา และฝ่ายราชการบ้านเมือง ซึ่งผู้ดำเนินการส่วนใหญ่นั้น
คือ ข้าราชการฝ่ายทหาร และพลเรือนของพระองค์ แสดงว่าข้าราชการต่างๆล้วนมีความรู้ทางด้านช่างเป็นอันมาก สันนิษฐานว่าจะโปรดให้รวบรวมช่างฝีมือทุกแขนงมาไว้ในกรุงธนบุรี
เพื่อฝึกสอนวิชาการแก่คนรุ่นใหม่ โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงโปรดให้สร้างเรือขึ้นใหม่ทั้งชุด แต่ส่วนใหญ่เป็นเรือที่ใช้ในการรบทั้งสิ้น เพราะในสมัยนั้นมีแต่การศึกสงครามโดยมีการแห่เรือสำคัญ
คือ ในการพระราชพิธีสมโภชรับพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ซึ่งอัญเชิญมาจากเวียงจันทน์และมาแห่พักไว้ที่กรุงเก่าคือพระนครศรีอยุธยา
มีข้อความในหมายรับสั่งพรรณนาขบวนเรือที่แห่มาจากต้นทางว่ารวมเรือแห่ทั้งปวง 115 ลำ และสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปสมทบที่พระตำหนักบางธรณีกรุงเก่า
ความว่ามีเรือแห่มารวมกันเป็นจำนวน 246 ลำโดยเรือสมัยกรุงธนบุรี มีการต่อเรือทั้งเรือรบ เรือสำเภา ตลอดจนเรือหลวงสำหรับไว้ใช้ในราชการ ปรากฏชื่อ เรือพระที่นั่งคือ เรือพระที่นั่งบรรลังก์แก้วจักรพรรดิ
เรือพระที่นั่งพิมานเมืองอินทร์ เรือนพระที่นั่งศรีสวัสดิ์ชิงชัย เรือพระที่นั่งสำเภาทองท้ายรถ เรือพระที่นั่งบัลลังก์บุษกพิมาน และเรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชย หลังจากที่พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกอบกู้เอกราชแล้ว
ได้โปรดให้สร้าง เรือพระราชพิธีขึ้นใหม่ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุวรรณพิชัยนาวาท้ายรถ เรือพระที่นั่งศรีสักหลาด และเรือโขมดยาปิดทองทึบ โดยช่างฝีมือในสมัยกรุงธนบุรีนี้
ได้ตกทอดและสร้างผลงานให้แก่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นอันมาก