กิจกรรมต่างๆ

ข้อมูลแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ๑๐๘ แห่ง (๓)

กรุงเทพมหานคร

กำหนดการจัดทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗

--------------------------------------------------------------------------

แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ๑๐๘ แห่ง ในพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗

จังหวัดมุกดาหาร
น้ำตกศักดิ์สิทธิ์ หรือน้ำตกแก้งช้างเนียม บ้านแก้งช้างเนียม หมู่ที่ ๑๐ ตำบลคำชะอี อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร : เป็นแหล่งน้ำสำคัญของจังหวัดมุกดาหารมีการสำรวจพบเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน บริเวณโดยรอบน้ำตกเป็น ปาเต็งรังที่อุดมสมบูรณ์น้ำตกแก่งช้างเนียมเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำสำคัญหลายสายของจังหวัดมุกดาหาร เช่นห้วยบางทราย ห้วยบังอี่ ห้วยมุก และห้วยตาเปอะ ซึ่งเป็นลำน้ำที่ไหลไปหล่อเลี้ยงผู้คนทั้งจังหวัดมุกดาหาร 
เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๐ มีการเปลี่ยนชื่อ "น้ำตกแก้งช้างเนียม" เป็น "น้ำตกศักดิ์สิทธิ์" และยังคงความอุดมสมบูรณ์ให้ชาวจังหวัดมุกดาหารได้ใช้ประโยชน์จนถึงทุกวันนี้
สถานที่เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
พระอุโบสถวัดศรีมงคลใต้ พระอารามหลวง อำเภอเมืองมุกดาหาร

จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ถ้ำปลา ตั้งอยู่ที่อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ ตำบลห้วยผา อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน : ลักษณะเป็นแอ่งน้ำ ขนาดกว้างประมาณ ๒ เมตร ลึก ๑.๕๐ เมตร ภายในแอ่งน้ำมีน้ำไหลออกจากถ้ำใต้ภูเขาอยู่ตลอดเวลา และมีปลาขนาดใหญ่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก คือปลาพลวงหินหรือปลามุง กินผลไม้ ผัก ธัญพืชต่างๆเป็นอาหาร และเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๑ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมา ณ ถ้ำปลา แห่งนี้ 
สถานที่เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
พระอุโบสถวัดพระธาตุดอยกองมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน

จังหวัดยโสธร
"ท่าคำทอง" ท่าน้ำแห่งนี้เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ในแม่น้ำชี หลังวัดศรีธรรมาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร : เป็นท่าน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่ง เรียกว่า ท่าคำทอง เป็นสถานที่สำหรับตั้งกองสักเลข (เกณฑ์ทหาร) โดยมีเมืองคำทองมาตั้งกองสักเลข สถานที่แห่งนี้ ซึ่งชื่อ “ท่าคำทอง” ถูกตั้งชื่อตามชื่อเมืองคำทอง ที่มารอสักเลขนั่นเอง ทั้งนี้เพื่อความเป็นสิริมงคล ท่าน้ำแห่งนี้ ถือเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนเคารพเลื่อมใส มีเทพยดาเจ้าพิทักษ์รักษาและเป็นแหล่งน้ำสำคัญของจังหวัดยโสธร  
สถานที่เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
พระอุโบสถวัดศรีธรรมาราม พระอารามหลวง อำเภอเมืองยโสธร

จังหวัดยะลา
"สระแก้ว" สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ภายในถ้ำมืดของวัดคูหาภิมุข อำเภอเมือง จังหวัดยะลา : เกิดขึ้นตามธรรมชาติภายในถ้ำมืด ซึ่งน้ำในสระแก้วจะใสสะอาดและเย็น เชื่อกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวเมื่อเข้าไปเที่ยวชมภายในถ้ำมืด มักจะนำน้ำจากสระแก้วมาประพรมบนศีรษะ จังหวัดยะลาจะนำน้ำจากสระแก้ว ไปใช้ประกอบในพระราชพิธี ๆ อย่างต่อเนื่อง
สถานที่เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
พระอุโบสถวัดพุทธภูมิ พระอารามหลวง อำเภอเมืองยะลา

จังหวัดร้อยเอ็ด
สระชัยมงคล : ตั้งอยู่ภายในวัดบึงพระลานชัย มีลักษณะเป็นสระน้ำธรรมชาติรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้าง ๒๕ เมตร ยาว ๒๕ เมตร ลึก ๕ เมตร สระชัยมงคลมีมาคู่กับวัดบึงพระลานชัย จากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีพบพระพุทธรูปใน ผอบดินเผาหลายองค์ ชาวบ้านนับถือว่าเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณ บริเวณที่จะทำพิธีพลีกรรมตักน้ำ คือใจกลางสระชัยมงคล ปัจจุบันทางวัดสร้างหอพระไตรมิ่งเมืองตรงจุดที่มีน้ำพุ่งขึ้นมาจากใต้ดิน และก่ออิฐ ฉาบปูนให้เป็นปอแบบมาตรฐาน ชาวบ้านนับถือว่าเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์และนำไปประกอบพิธีกรรมต่างๆ เสมอ
สถานที่เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
พระอุโบสถวัดบึงพระลานชัย พระอารามหลวง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด

จังหวัดระนอง
บ่อน้ำพุร้อนรักษะวาริน : เป็นน้ำพุร้อนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีอยู่ด้วยกัน ๓ บ่อ บ่อใหญ่สุดเป็นบ่อพ่อ ถัดมาก็เป็นบ่อแม่ และ บ่อลูก ทั้ง ๓ บ่อตั้งอยู่ใน สวนสาธารณะรักษะวาริน อยู่ห่างกัน ๖๐ เมตร อุณหภูมิน้ำประมาณ ๖๕ องศา บ่อน้ำพุร้อนรักษะวารินได้รับการวิเคราะห์จากกรมวิทยาศาสตร์บริการว่า ประกอบด้วยแร่ธาตุที่สำคัญ และเป็นแหล่งเดียวในประเทศไทยที่ไม่มีสารกำมะถันเจือปนอยู่เลย ทั้งยังถือกันว่าเป็นน้ำบริสุทธิ์ ในน้ำประกอบด้วยแร่ธาตุที่มีประโยชน์หลายอย่าง เป็นบ่อน้ำแร่ร้อนแหล่งเดียวในประเทศไทย ที่ไม่มีสารกำมะถันเจือปนอยู่เลย
สถานที่เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
พระอุโบสถวัดสุวรรณคีรีวิหาร พระอารามหลวง อำเภอเมืองระนอง

จังหวัดระยอง
วังสามพญาแห่งนี้ : แต่เดิมเป็นวังลึก มีปลาอาศัยอยู่ชุกชุม น้ำใสแลมีความเย็นอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากรอบๆ บริเวณมีต้นไม้ประเภทเถาวัลย์ปกคลุมวังนี้ จากการบอกเล่าได้กล่าวว่า ในปลายกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้เดินทัพผ่านมาทางทุ่งละหารใหญ่และแวะพักไพร่พลช้างม้า ณ บริเวณนี้ เพื่อให้ไพร่พลได้พักผ่อนก่อนเข้าตีเมืองระยอง ในระหว่างที่ไพร่พลพัก พลช้างได้นำช้างศึกลงอาบน้ำบริเวณบึงใหญ่ที่มีน้ำใต้ดินไหลซึมอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้บริเวณบึงเดิมนั้นกว้างใหญ่ขึ้น ภายหลังชาวบ้านจึงเรียกบึงนี้ว่า “วังสามพญา” หมายถึง วังที่ช้างศึกของพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ลงเล่นน้ำนั้นเอง
สถานที่เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
พระอุโบสถวัดป่าประดู่ พระอารามหลวง อำเภอเมืองระยอง

จังหวัดราชบุรี
สระโกสินารายณ์ : สระน้ำโบราณศักดิ์สิทธิ์ สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ตามถนนสายบ้านโป่ง – กาญจนบุรี ในเขตตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ร่มรื่นด้วยต้นไม้รอบสระน้ำ และได้ใช้น้ำสระแห่งนี้ประกอบพระราชพิธีสำคัญ ๆ
สถานที่เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
พระวิหารหลวงวัดมหาธาตุวรวิหาร อำเภอเมืองราชบุรี

จังหวัดลพบุรี
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ : ตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถวัดกวิศรารามราชวรวิหาร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ลักษณะของบ่อน้ำเป็นรูปแปดเหลี่ยมบริเวณขอบบ่อกรุด้วยอิฐถือปูน ขนาดความกว้าง ๒.๓๕ เมตร ความลึกประมาณ ๕ เมตร และนำน้ำจากสถานที่แห่งนี้มาใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญ ๆ 
สถานที่เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
พระอุโบสถวัดกวิศรารามราชวรวิหาร พระอารามหลวง อำเภอเมืองลพบุรี

จังหวัดลำปาง
"บ่อน้ำเลี้ยงพระนางจามเทวี” : ถือเป็นแหล่งน้ำสำคัญ เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเพียงแห่งเดียวของจังหวัดลำปาง ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนบ้านจามเทวี ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปางซึ่งเป็นสถานที่เคารพสักการะของหมู่บ้าน ปัจจุบันน้ำในบ่อน้ำได้มีการนำไปใช้ในการประกอบพิธีกรรมของชาวบ้าน โดยทุกวันที่ ๑๓  เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันสงกรานต์ “ปีใหม่ล้านนา” ชาวบ้านในชุมชนบ้านจามเทวีจะทำการช่วยกันตักน้ำในบ่อน้ำเลี้ยงนี้ ขึ้นไปถวายวัดพระธาตุลำปางหลวง เพื่อจะใช้เป็นน้ำสำหรับสรงองค์พระธาตุ และสรงองค์พระเจ้าแก้วมรกตดอนเต้า พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปาง ตลอดจนยังได้นำไปใช้ในงานพระราชพิธี และงานพิธีสำคัญต่างๆ เรื่อยมา
สถานที่เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
พระอุโบสถวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม พระอารามหลวง อำเภอเมืองลำปาง

จังหวัดลำพูน
บ่อน้ำทิพย์ดอยขะม้อ : เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สูง ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ธิ แม่ตีบ แม่สาร มีลักษณะเป็นบ่อหินบนยอดเขากว้างประมาณ ๔ เมตร ลึกดิ่งลงไปประมาณ ๕-๖ เมตร มีน้ำตลอดทั้งปี ถือเป็น ๑ ใน ๗ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญและเป็นสิริมงคลของประเทศ และนำน้ำไปใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญ  ๆ
สถานที่เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
พระวิหารวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อำเภอเมืองลำพูน

จังหวัดเลย
ถ้ำเพียงดิน : ตั้งอยู่ภายในวัดถ้ำผาปู่ ได้รับวุสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ นิกายธรรมยุติ ตั้งอยู่บ้านนาอ้อ หมูที่ ๙ ตำบลนาอ้อ อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย ภายในถ้ำประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ ประกอบด้วย พระพุทธรูปปางสมาธิ ปางมารวิชัย ปางไสยาสน์ ปางลีลา และเจ้าแม่กวนอิม และมีพระพุทธรูปที่สำคัญเป็นที่เคารพนับถือของ ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อใหญ่ ภายในถ้ำแห่งนี้มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ได้มีการนำน้ำในบ่อน้ำแห่งนี้ไปประกอบพระราชพิธีในโอกาสสำคัญ ๆ 
สถานที่เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
พระอุโบสถวัดศรีสุทธาวาส พระอารามหลวง อำเภอเมืองเลย

จังหวัดศรีสะเกษ
ปราสาทหินสระกำแพงน้อย : ตั้งอยู่ภายในวัดสระกำแพงน้อย ติดกับถนนสายอุทุมพรพิสัย-ศรีสะเกษ (หมายเลข ๒๒๖) ในเขตตำบลขยุง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นปรางค์เดี่ยวสร้างด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม สูงประมาณ ๑๑ เมตร ศิลปะการก่อสร้างแบบขอม ใช้เป็นเทวสถานสำหรับบูชาเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ คือ ปราสาทประธานวิหาร กำแพงแก้ว ซุ้มประตู และ สระน้ำ โบราณสถานแห่งนี้ เป็นอโรคยาศาล หรืออโรคยศาลา (โรงพยาบาล) หนึ่งในจำนวน ๑๐๒ แห่ง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งอาณาจักรขอมโบราณ โปรดให้สร้างขึ้นทั่วราชอาณาจักรในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ (พ.ศ. ๑๗๒๔ - พ.ศ. ๑๗๖๑) ก่อด้วยศิลาแลง และหินทราย ตัวปรางค์ประธาน ยังค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ขาดการบูรณะ ส่วนโคปุระหรือกำแพงแก้วพังทลาย แต่ยังมีองค์ประกอบครบถ้วน ทั้งทับหลัง และโครงสร้างอื่น ๆ แต่ยังไม่ได้รับบูรณะและปรับแต่ง ปัจจุบันน้ำในสระอโนดาตนี้ถูกใช้ในการทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ในพิธีสำคัญของจังหวัดศรีสะเกษ น้ำจากสระน้ำบริเวณปราสาทสระกำแพงน้อยถูกนำมาใช้ในพระราชพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้นำน้ำจากสระน้ำบริเวณปราสาทสระกำแพงน้อยไปใช้ในพระราชพิธีสำคัญอย่างต่อเนื่อง
สถานที่เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
พระวิหารวัดมหาพุทธาราม อำเภอเมืองศรีสะเกษ

จังหวัดสกลนคร
บ่อน้ำ “ภูน้ำลอด” : เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เพียงแห่งเดียวของจังหวัดสกลนคร เป็นบ่อน้ำโบราณ มีความกว้าง ประมาณ ๒ เมตร ลึก ๒ เมตร ๕๐ เซนติเมตร โดยภูน้ำลอดนี้ เป็นตาน้ำที่เกิดจากธารน้ำใต้ดินที่ผุดขึ้นมาตามธรรมชาติ ตามตำนานเชื่อว่า หากแหล่งน้ำที่มีมาคู่กับพระธาตุเชิงชุมนั้นถือว่าเป็นน้ำที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจังหวัดสกลนคร ได้ใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับประกอบพิธีกรรมต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล และเนื่องในโอกาสพระราชพิธีสำคัญๆ
สถานที่เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
พระอุโบสถวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร อำเภอเมืองสกลนคร

จังหวัดสงขลา
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดแหลมบ่อท่อ : ตั้งอยู่บริเวณวัดแหลมบ่อท่อ หมู่ที่ ๔ ตำบลเกาะใหญ่ อำเกอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา อยู่ด้านทิศเหนือของวัดแหลมบ่อท่อ ห่างจากวัดประมาณ ๑๐๐ เมตร ติดกับทะเลสาบสงขลา บ่อน้ำแห่งนี้ชาวบ้านเรียกว่า "บ่อทอง" หรือ "บ่อทรัพย์" และสิ่งที่แปลกคือ บ่อน้ำแห่งนี้ น้ำไม่เคยเหือดแห้ง มีตาน้ำผุดไหลออกมาตลอดเวลา มีความลึกและความกว้างประมาณ ๑ เมตร ชาวบ้านได้เอาตอไม้ ไม้หมากที่เป็นโพรงไปครอบสวมไว้เป็นสัญลักษณ์เครื่องหมายทำเป็นท่อ เพื่อป้องกันมีให้น้ำเอ่อล้นปากบ่อ จึงเป็นที่มาของคำว่า "บ่อท่อ"
สถานที่เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
พระอุโบสถวัดชัยมงคล พระอารามหลวง อำเภอเมืองสงขลา

จังหวัดสตูล
บ่อน้ำพุร้อนทุ่งนุ้ย เป็นน้ำบริสุทธิ์จากน้ำพุร้อน น้ำใสสะอาด สามารถดื่มได้ โดยมีอุณหภูมิประมาณ ๕๒ องศาเซลเซียส ตั้งอยู่ที่บ้านน้ำร้อน หมู่ที่ ๔ ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล 
ปัจจุบันได้มีการพัฒนาบ่อน้ำพุร้อนใหม่ให้มีสภาพสวยงาม โดยแบ่งบ่อน้ำพุร้อนออกเป็นบ่อแม่และบ่อลูก สำหรับการบริหารจัดการบ่อแม่ซึ่งเป็นบริเวณที่มีน้ำพุร้อนเป็นน้ำบริสุทธิ์ ได้มีการกั้นบริเวณแยกไว้อย่างชัดเจน โดยจังหวัดสตูลจะใช้ประกอบในพระราชพิธีสำคัญ ๆ สำหรับบ่อลูกจะได้รับน้ำซึ่งส่งมาจากบ่อแม่ และนำน้ำดังกล่าวไปใช้บริการนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่
สถานที่เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
พระอุโบสถวัดชนาธิปเฉลิม พระอารามหลวง อำเภอเมืองสตูล

จังหวัดสมุทรปราการ
แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าองค์พระสมุทรเจดีย์ : เมืองสมุทรปราการ เป็นเมืองหน้าด่านทางทะเลสำคัญ สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรม พุทธศักราช ๒๑๗๘ เดิมตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านตำบลบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงโปรดเกล้าฯให้สร้าง เมืองขึ้นใหม่ในพุทธศักราช ๒๓๖๒ ตรงบริเวณบางกระเจ้าหรือตำบลปากน้ำ พระสมุทรเจดีย์เป็นปูชนียสถานที่สำคัญ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวสมุทรปราการ ซึ่งปรากฏอยู่ในคำขวัญและตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ แต่เดิมพระสมุทรเจดีย์ตั้งอยู่บริเวณบริเวณเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาพื้นดินรอบเกาะตื้นเขินกลายเป็นแผ่นดินผืนเดียวกับชายฝั่ง จนทำให้พระสมุทรเจดีย์เป็นพระเจดีย์ตั้งอยู่ริมน้ำในปัจจุบัน
สถานที่เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
อุโบสถ (หลังเก่า) วัดพิชัยสงคราม อำเภอเมืองสมุทรปราการ

จังหวัดสมุทรสงคราม
ท่าน้ำวัดดาวดึงษ์ : ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำทั้งสามสายจากสามคลอง ได้แก่ คลองโคก คลองดาวดึงษ์ และคลองหนองอ้อ (ซึ่งเป็นชื่อคลองที่ชาวบ้านเรียกกันตามจุดที่แม่น้ำไหลผ่าน) ได้ไหลมาบรรจบกันก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลอง โดยแม่น้ำราชบุรีสายนี้เป็นหนึ่งในห้าแม่น้ำสำคัญ ๕ สาย ที่เรียกว่าเบญจสุทธคงคาที่นำมาใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตามบันทึกของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งกล่าวไว้ว่า ทรงพบสําเนาท้องตราสั่งให้ตักน้ำ ๕ แห่งมาใช้ในพระราชพิธีสรงพระมุรธาภิเษกสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและยังมีบันทึกว่าเมื่อปี ๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสคลองอัมพวาและทรงพักเสวยเช้า ที่วัดดาวดึงส์ รวมถึงใช้น้ำบริเวณแห่งนี้ทำเครื่องเสวยและสรงน้ำในคลองดังกล่าว ชาวบ้านจึงถือว่าเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 
สถานที่เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
พระอุโบสถวัดเพชรสมุทรวรวิหาร พระอารามหลวง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม

จังหวัดสมุทรสาคร
คลองดำเนินสะดวก บริเวณหน้าวิหารหลวงพ่อโต วัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร ต.ยกกระบัต อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร คลองดำเนินสะดวก : ถือว่าเป็นคลองที่มีความสำคัญกับจังหวัดสมุทรสาครอย่างยิ่ง เพราะเป็นคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้อำนวยการขุดคลอง ซึ่งมีพิธีเปิดใช้คลองนี้เมื่อวันจันทร์ เดือน ๗ ขึ้น ๔ ค่ำ จ.ศ. ๑๒๓๐ ร.ศ. ๘๗ ตรงกับวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าเป็นคลองที่มีเส้นตรง ประชาชนจะได้รับความสะดวกในการสัญจร จึงพระราชทานนามคลองที่ขุดใหม่นี้ว่า “คลองดำเนินสะดวก” มีความยาว ๓๕.๘ กิโลเมตร มีหลักบอกแนวเขต ๘ หลัก ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ๒๑ กิโลเมตร มีหลักบอกแนวเขต ๕ หลัก (หลัก ๑ ถึงหลัก ๕) คลองดำเนินสะดวกมีวัดหลักสี่ราษฎร์สโมสรตั้งอยู่ริมคลอง บริเวณหลักเขตที่ ๔ โดยมีหลวงพ่อโต เป็นพระประธานประจำวัด มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปโบราณสมัยอู่ทองเนื้อหินทรายแดงฉาบปูน ปางมารวิชัย มีพระพักตร์อิ่มเอิบละไม หน้าตักกว้าง ๘๑ นิ้ว สูง ๙๙ นิ้ว สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอู่ทอง
สถานที่เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
พระอุโบสถวัดเจษฎาราม พระอารามหลวง อำเภอเมืองสมุทรสาคร

จังหวัดสระแก้ว
สระแก้ว - สระขวัญ : ตั้งอยู่ที่ ตําบลสระแก้ว อําเภอเมืองสระแก้ว เป็นแหล่งน้ำที่เคยนําน้ำไปใช้ทําน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ พุทธศักราช ๒๕๕๔ โดยเมื่อพลีกรรมตักน้ำจาก "สระแก้ว-สระขวัญ" แล้ว จะนําไปทําน้ำอภิเษก ณ พระอุโบสถวัดสระแก้ว พระอารามหลวง อําเภอเมืองสระแก้ว
สระแก้ว - สระขวัญ เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญในอดีตของจังหวัดสระแก้ว เมื่อยุคหนึ่งเคยมีการนำน้ำจากทั้งสองสระนี้ไปใช้ในพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ที่เชื่อกันว่าน้ำในสระนั้นเป็นน้ำบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อย้อนกลับไปในสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สระแก้ว สระขวัญได้ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์ครานั้นเมื่อคราวพระองค์ยังคงดำรงยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้รับมอบหมายจากพระเจ้ากรุงธนบุรีให้เป็นแม่ทัพยกกองทัพไปตีกรุงกัมพูชา และได้มาพักทัพอยู่บริเวณนี้ โดยกองทัพได้อาศัยน้ำจากสระทั้งสองบริโภคและใช้สอย จึงได้พระราชทานนามให้สระนี้ว่า “สระแก้ว สระขวัญ"
สถานที่เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
พระอุโบสถวัดสระแก้ว พระอารามหลวง อำเภอเมืองสระแก้ว

จังหวัดสระบุรี
แม่น้ำป่าสัก บริเวณบ้านท่าราบ ตำบลต้นตาล อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี : ซึ่งบริเวณพื้นที่แห่งนี้ ได้นำน้ำมาใช้เพื่อประกอบในพิธีถือน้ำพิพัฒสัตยาอันศักดิ์สิทธิ์ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และในพระราชพิธีสำคัญ ๆ 
สถานที่เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
พระมณฑปรอยพระพุทธบาท วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อำเภอพระพุทธบาท

จังหวัดสิงห์บุรี
สระน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดโพธิ์เก้าต้น : ตั้งอยู่ในบริเวณวัดโพธิ์เก้าต้น หมู่ที่ 8 ตำบลบางระจัน อำเภอค่ายบางระจัน ตั้งอยู่หลังประตูทางออกตรงข้ามกับอุทยานวีรชนชาวบ้านบางระจัน ตามประวัติสระน้ำแห่งนี้มีอยู่คู่กับวัดโพธิ์เก้าต้นมาแต่เดิมอยู่แล้ว และมีการนำน้ำไปใช้ในพระราชพิธีสำคัญ ๆ
สถานที่เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
พระอุโบสถวัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร พระอารามหลวง อำเภอเมืองสิงห์บุรี

จังหวัดสุโขทัย มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ๓ แห่ง
๑-๒. บ่อแก้ว บ่อทอง น้ำศักดิ์สิทธิ์ถวายแด่พระเจ้าแผ่นดิน ตั้งอยู่ใน อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย บ่อแก้ว เป็นบ่อน้ำโบราณ กรุด้วยศิลาแลง ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตวัดเขาอินทร์ เมืองศรีสัชนาลัย น้ำในบ่อใสสะอาดจึงเรียกว่า "บ่อแก้ว" ส่วนบ่อทองตั้งอยู่ห่างไปไม่ไกล ขุดลึกลงไปในชั้นหินแลง น้ำมีตะกอนแร่เหล็กปนอยู่จึงมีสีออกเหลือง เรียกกันว่า "บ่อทอง" น้ำทั้งสองบ่อถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์เชื่อว่ามีเทวดาพิทักษ์รักษา นิยมนำไปประกอบพิธีสำคัญ
บ่อแก้ว และบ่อทอง คือ ๒ ใน ๖ แหล่งน้ำสำคัญ 
๓. ตะพังทอง ตั้งอยู่วัดตะพังทอง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เป็นสระน้ำที่ขุดขึ้นตามคติความเชื่อแบบพุทธศาสนาจากลังกา เรียกว่า นทีสีมาหรืออุทกสีมา มีอุโบสถ (โบสถ์) ที่อยู่กลางสระน้ำ ที่ใช้ในความหมายของความบริสุทธ์ของขอบเขตที่กันไว้เป็นเขตสำหรับให้พระสงฆ์ทำสังฆกรรม นอกจากนี้ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ หรือจารึกพ่อขุนรามคำแหงได้กล่าวถึงตะพังทองว่า กลางเมืองสุโขทัยนี้ มีน้ำตระพังโพยสีใสกินดี... ดั่งกินน้ำโขงเมื่อแล้ง อันแสดงถึงตระพังนี้เป็นแหล่งน้ำสำคัญในการอุปโภคบริโภคของคนสมัยสุโขทัย
สถานที่เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร อำเภอศรีสัชนาลัย

จังหวัดสุพรรณบุรี มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ๔ แห่ง
ประวัติศาสตร์ความเป็นมาเกี่ยวกับสระศักดิ์สิทธิ์โบราณ บ้านท่าเสด็จ ต.สระแก้ว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ว่า สระโบราณทั้ง ๔ ของ จ.สุพรรณบุรี ได้แก่ สระแก้ว สระคา สระยมนาและสระเกษ มีความสำคัญสำหรับนำไปใช้ในพิธีสรงมุรธาภิเษกมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์มีการใช้ในพระราชพิธีต่างๆ อาทิ รัชกาลที่ ๓ ใช้ในพระราชพิธีตรุษ รัชกาลที่ ๔ ใช้ในพิธีสมโภชพระบาง และใช้เป็นน้ำเสวย และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ จะใช้น้ำจากสระทั้ง ๔ สระนี้เช่นกัน
ทั้งนี้ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติตั้งแต่ปี ๒๔๗๘ พร้อมกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเมื่อปี ๒๕๔๘  จากนั้นจึงได้ดำเนินการขุดลอกสระศักดิ์สิทธิ์ ทั้ง ๔ สระ และในปี ๒๕๔๙ ได้ทำการอนุรักษ์ และพัฒนาโบราณสถาน รวมถึงปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีความงดงามจากนั้นจึงโอนถ่ายภารกิจการบำรุงรักษาให้กับเทศบาล ต.ท่าเสด็จ
เป็นผู้ดูแลรักษาจนถึงปัจจุบันนี้ 
ตำนานเล่าถึงสระศักดิ์สิทธิ์ทั้ง ๔ สระนี้ว่า ครั้งหนึ่งมีเจ้าเมืองผู้ครองนครองค์หนึ่ง มีธิดา ๔ องค์ ชื่อ แก้ว คา ยมนา และเกต พระธิดาสามองค์แรกมีสวามีเป็นคนธรรมดา แต่ธิดาองค์สุดท้องมีสวามีเป็นลิงเผือก ต่อมาเมื่อเจ้าเมืองรู้ว่าตนเองชราภาพลงมาก จึงคิดจะยกเมืองให้กับลูกเขยครองแทน โดยตั้งกติกาว่า ให้พระธิดาช่วยกันขุดสระให้เสร็จภายใน ๗ วัน ผู้ใดขุดสระได้ใหญ่ที่สุด ก็จะให้สวามีของธิดาองค์นั้นเป็นเจ้าเมืองแทนธิดาและสวามี ๓ คู่แรกต่างช่วยกันขุดสระ ยกเว้นธิดาองค์สุดท้องที่ต้องขุดเพียงคนเดียว และยังถูกพี่กลั่นแกล้ง โดยนำดินมาถมใส่จนกระทั่งในคืนสุดท้าย ธิดาเกตจึงอ้อนวอนให้ลิงเผือกช่วยเหลือ พญาลิงจึงพาพลพรรคลิงมาช่วยขุด จนได้สระใหญ่กว่าสระของธิดาผู้พี่ทั้งสาม และยังทำเป็นเกาะกลางน้ำปลูกต้นเกตเพื่อเป็นสัญลักษณ์ไว้ด้วย พอรุ่งเช้า เจ้าเมืองเกิดสวรรคตไปก่อน บรรดาเสนาอำมาตย์พิจารณากันแล้วเห็นว่า สระของเกตกับลิงเผือกใหญ่กว่าของคู่อื่น จึงมีมติมอบราชสมบัติให้ครอบครองแทน ธิดาองค์พี่ทั้งสามและสวามีไม่พอใจ จึงขโมยพระขรรค์ศักดิ์สิทธิ์หนีไป พญาลิงเผือกออกติดตามไปทันกันที่สระเกต พวกพี่จึงขว้างพระขรรค์ลงสระ บังเอิญถูกต้นเกตขาดสะบั้นล้มลง และพระขรรค์จมสูญหายไปด้วยตั้งแต่นั้นมาสระดังกล่าวจึงกลายเป็นสระศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากมีพระขรรค์อยู่ในสระแห่งนี้
สถานที่เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
พระวรวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อำเภอเมืองสุพรรณบุรี

จังหวัดสุราษฎร์ธานี
"แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ พระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร" พระบรมธาตุไชยา เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับเป็น ปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันทางวัดได้ขุดบริเวณโดยรอบฐานเป็นเสมือนสระกว้างประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ลึกประมาณ ๖๐-๗๐ เซนติเมตร เพื่อให้เห็นฐานเดิมและมีน้ำขังอยู่รอบฐานตลอดปี บางปีในหน้าแล้งรอบๆ ฐานเจดีย์พระบรมธาตุจะแห้งและมีตาน้ำพุขึ้นมา ซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ และรอบองค์พระธาตุมีเจดีย์เล็ก ๔ ทิศล้อมรอบด้วยวิหารคด ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ขนาดต่างๆโดยรอบทั้ง ๔ ด้าน สำหรับบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ อยู่ในบริเวณพุทธาวาส ข้างพระวิหารเก่า ที่สร้างคู่มากับองค์พระบรมธาตุ
สถานที่เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
พระวิหารหลวงวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร อำเภอไชยา

จังหวัดสุรินทร์
สระโบราณ โรงพยาบาลสุรินทร์ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ : เป็นสระน้ำร่วมสมัย น้ำในสระมีสีเขียวเหมาะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ น้ำในสระไม่เคยแห้งขอด เพราะบริเวณรอบๆ สระเป็นที่ลาดสูง เป็นทางน้ำไหลมารวมกัน โดยเฉพาะในฤดูฝนมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น และได้มีการนำน้ำในสระแห่งนี้เข้าร่วมในพระราชพิธีสำคัญ ๆ
สถานที่เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
พระอุโบสถวัดบูรพาราม พระอารามหลวงเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเมืองสุรินทร์

จังหวัดหนองคาย
สระมุจลินทร์ : ตั้งอยู่ภายในวัดพระธาตุบังพวน ตำบลพระธาตุบังพวน อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย เป็นหนึ่งในแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยอยุ่ติดกับ พระมุจลินทเจดีย์ ตามพุทธประวัติกล่าวไว้ว่ามีพญานาคนามพญามุจลินทนาคราชได้ขึ้นจากสระที่อยู่บริเวณแห่งเดียวกันนี้ เข้าไปวงขด ๗ รอบ แล้วแผ่พังพานปกพระพุทธเจ้าเพื่อป้องกันลมฝนให้พระองค์ในช่วงเวลานั่งเสวยวิมุติสุข ทางวัดจึงได้สร้างรูปปั้นพญานาค ๗ เศียรอยู่กลางสระน้ำ โดยนักท่องเที่ยวมีความเชื่อว่าภายใต้สระนี้เป็นประตูเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์และเมืองบาดาลนั่นเอง สายมูทั้งหมายจึงนิยมพากันมากราบไหว้เพื่อขอพร ขอโชค ขอลาภ และนำน้ำในสระกลับไปบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยสระน้ำนี้ได้มีทางเดินให้ลงไปในสระ แต่ลงได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น ห้ามให้ผู้หญิงลงไป
สถานที่เสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์
พระอุโบสถวัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวง อำเภอเมืองหนองคาย

Share Post