คำเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

เรือกลอง

เรือกลอง

เรือกลอง เดิมเรียก เรือกลองแขก เป็นเรือซึ่งมีหน้าที่บรรเลงกลองแขกและปี่ชวาในเวลาแห่เสด็จ
มีธรรมเนียมเกี่ยวกับการบรรเลงดังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า
“เมื่อถึงที่ประทับ เรือกลองต้องลอยลำถวายเสียงอยู่กลางน้ำตรงเรือพระที่นั่งจนเสด็จขึ้นบกแล้วจึงหยุด”
เรือกลองมี ๒ ลำ คือ เรือกลองนอก และเรือกลองใน อยู่ในสายกลางของขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
ในแนวเดียวกับเรือพระที่นั่ง

เรือกลองนอกอยู่ในขบวนหน้า เดิมเป็นเรือสำหรับเจ้ากรมอาสาหรือเจ้ากรมเขนทองผลัดเวรกันลง
หากข้างขึ้นเป็นเวรเจ้ากรมเขนทองขวาหรือเจ้ากรมอาสาขวา หากข้างแรมเป็นเวรเจ้ากรมเขนทองซ้ายหรือเจ้ากรมอาสาซ้าย
ต่อมาเป็นเรือสำหรับรองผู้บัญชาการขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ปัจจุบันใช้เรือกราบชื่อ “เรืออีเหลือง” เป็นเรือกลองนอก

เรือกลองในอยู่หน้าเรือคู่ชัก เดิมเป็นเรือสำหรับเจ้ากรมอาสาหกเหล่า ซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่ หากข้างขึ้นเป็นเวรพระยาสีหราชเดโชชัย เจ้ากรมอาสาหกเหล่าขวา
หากข้างแรมเป็นเวรพระยาสีหราชเดโชชัยท้ายน้ำ (พระยาท้ายน้ำ) เจ้ากรมอาสาหกเหล่าซ้าย ต่อมาเป็นเรือสำหรับผู้บัญชาการขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
ปัจจุบันใช้ เรือกราบชื่อ “เรือแตงโม” เป็นเรือกลองใน
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

จำนวนการเข้าชม 1,714 ครั้ง