คำเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

เรือพิฆาต

เรือพิฆาต

เรือพิฆาต เป็นเรือในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค หัวเรือเขียนลายเป็นรูปสัตว์ มีช่องสำหรับวางปืนใหญ่ไว้ที่โขนเรือ
เรือพิฆาตจัดเป็นเรือขบวนที่อยู่ในขบวนนอกหน้าและขบวนนอกหลัง ปรากฏหลักฐานในขบวนพยุหยาตราเพชรพวงทางชลมารค
สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยจัดเป็นเรือคู่หน้าสำหรับนำขบวน ๓ คู่ และเป็นเรือในขบวนนอกหลังอีก ๒ คู่
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้จัดสร้างเรือพิฆาตขึ้นใหม่แทนของเดิม ๑๒ ลำ แบ่งตามสีพื้นท้องเรือเป็นคู่ ๆ
ได้แก่ พื้นชาด พื้นหงดิน พื้นเหลือง พื้นแดงเสน และพื้นน้ำเงิน ดังนี้
๑. เรือมังกรจำแลง เรือมังกรแผลงฤทธิ์ พื้นชาด 
๒. เรือเหราล่องลอยสินธุ์  [เห-รา-ล่อง-ลอย-สิน] เรือเหราลิลลาสมุท [เห-รา-ลิน-ลา-สะ-หฺมุด] พื้นหงดิน   
๓. เรือสางกำแพงหาญ เรือสางชาญชลสินธุ์ [สาง-ชาน-ชน-สิน] พื้นเหลือง
๔. เรือโตขมังคลื่น เรือโตฝืนสมุท พื้นแดงเสน
๕. เรือกิเลนประลองเชิง เรือกิเลนละเลิงชล  พื้นน้ำเงิน
๖. เรือเสือทยานชล เรือเสือคำรนสินธุ์ พื้นน้ำเงิน
เรือพิฆาตในปัจจุบันเหลือเพียงคู่เดียวคือ เรือเสือทยานชลกับเรือเสือคำรนสินธุ์
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

จำนวนการเข้าชม 1,806 ครั้ง