คำเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
[อะ-เนก-กะ-ชาด-พุ-ชง]

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ แต่สำเร็จในรัชกาลที่ ๕ ดังจดหมายเหตุ
พระราชกิจรายวันรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ มีว่า เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์นี้
“โปรดให้ทำขึ้นด้วยเป็นเรือแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทำค้างไว้โปรดให้ต่อโขนใหม่
สลักลายนาคทั่วไปทั้งลำ พื้นกระจกขาวลายนาคนั้น เป็นทอง พื้นท้องทาสีชมภู”

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์เป็นเรือพระที่นั่งที่งดงามมากอีกลำหนึ่ง ภายในทาสีแดง ภายนอกสีชมพู
มีลายนาคขดพันกันมากมายสมชื่ออเนกชาติภุชงค์ คือนาคจำนวนมาก คำว่า “ภุชงค์” มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตว่า
ภุชงฺค [พุ-ชัง-คะ] แปลว่าผู้ไปด้วยขนด [ขะ-หฺนด] หมายถึงนาคหรืองู เรือพระที่นั่งลำนี้มีนายเรือ
๒ นาย นายท้าย ๒ นาย ฝีพาย ๖๑ นาย ใช้พายทอง พายท่านกบิน ไม่มีนักสราช [นัก-สะ-ราด] เชิญธง
เพราะถือเป็นธรรมเนียมว่า เรือพระที่นั่งศรีถ้าทอดบัลลังก์กัญญาจะไม่มีธงท้าย
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

จำนวนการเข้าชม 2,455 ครั้ง