คำเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

เรือพระที่นั่งกิ่ง (๑)

เรือพระที่นั่งกิ่ง (๑)

เรือพระที่นั่งกิ่งเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาว่า ใน พ.ศ. ๒๑๔๙
สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเสด็จไปทอดพระเนตรรอยพระพุทธบาท
“ฝีพายเอาดอกเลาปักปัถวีเรือชัย ทอดพระเนตรเห็นตรัสว่างามดีอยู่ ครั้นเสด็จกลับถึงกรุงสั่งให้แปลงปัถวีเรือชัยเป็นเรือกิ่ง”
ต่อมามีการเขียนลายกิ่งไม้ประดับที่หัวเรือ เรียกว่า เรือพระที่นั่งกิ่ง ถือว่าเป็นเรือพระที่นั่งชั้นสูงสุด ไม่เคยมีพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดประทับ
ยกเว้นบางครั้งที่อาจใช้เป็นเรือเชิญผ้าไตรในงานพระราชทานพระกฐินหรือเชิญพระพุทธรูปในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
เรือพระที่นั่งกิ่งที่ปรากฏชื่อในกาพย์เห่เรือพระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร [ทำ-มะ-ทิ-เบด] ได้แก่ เรือศรีสมรรถไชย [สี-สะ-หฺมัด-ถะ-ไช]
และเรือไกรสรมุข [ไกฺร-สอ-ระ-มุก] เมื่ออยู่ในริ้วขบวน เรือพระที่นั่งกิ่งจะทอดบัลลังก์บุษบก ด้านหน้าบุษบกปักฉัตร ๗ ชั้น ๑ องค์
๕ ชั้น ๓ องค์ ด้านหลังบุษบกปักฉัตร ๗ ชั้น ๑ องค์ ๕ ชั้น ๒ องค์ พายที่ใช้ในเรือพระที่นั่งกิ่งเป็นพายทอง คือทาสีทอง และฝีพายจะพายในท่านกบิน
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

จำนวนการเข้าชม 6,047 ครั้ง