คำเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

พยุหยาตรา - พยุหบาตรา (๑)

พยุหยาตรา-พยุหบาตรา (๑)
[พะ-ยุ-หะ-ยาด-ตฺรา-พะ-ยุ-หะ-บาด-ตฺรา]
 
คำว่า พยุหยาตรา หมายถึง กระบวนทัพ มีทั้งกระบวนทางบก เรียกว่า “สถลมารค” และกระบวนทางน้ำ เรียกว่า “ชลมารค”
ในเวลาบ้านเมืองปราศจากศึกสงครามพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานพระกฐินหรือเสด็จขึ้นพระพุทธบาท
เป็นกระบวนใหญ่จัดตามแบบแผนเรียกว่า พยุหยาตรา
วรรณคดีที่แสดงกระบวนพยุหยาตราอย่างละเอียด ได้แก่ ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง
บทนิพนธ์ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) [เจ้า-พฺระ-ยา-พฺระ-คฺลัง-หน] และลิลิตกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราทางสถลมารคและทางชลมารค
พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
 
ในสมัยก่อน คำที่ใช้เรียกกระบวนทัพ คือ พยุหบาตรา เช่น พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ [ปฺระ-เสิด-อัก-สอน-นิด] มีว่า
 
“แลโหรทำนายว่าห้ามยาตรา แลมีพระราชโองการตรัสว่า ได้ตกแต่งการนั้นสรัพ [สับ] แล้ว จึงเสด็จพยุหบาตราไป”
พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ [พฺระ-พน-นะ-รัด] วัดพระเชตุพน กล่าวถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่า
“เสดจ์ [สะ-เด็ด] พยุหบาตราทัพโดยแถวสถลมารค ไปเข้าที่เสวยตำบลบ้านสะแก้วสะเล่า”
 
ปัจจุบันคำว่า พยุหบาตรา เลิกใช้แล้ว ใช้แต่คำว่า พยุหยาตรา
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
จำนวนการเข้าชม 3,585 ครั้ง