คำเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์

พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์

พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ สร้างในรัชกาลที่ ๑ ตั้งอยู่ตรงมุขต่อระหว่างกำแพงแก้วด้านตะวันตกและด้านเหนือของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย [อำ-มะ-ริน-วิ-นิด-ไฉ] เป็นพระที่นั่งขนาดเล็ก
หลังคาทรงไทย มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลงรักประดับกระจก หน้าบันจำหลักเป็นรูปเทวดายืนแท่น พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์
พระหัตถ์ซ้ายทรงตรี มีลายกระหนกก้านขดเทพนม [เทบ-พะ-นม] เป็นลายล้อม พื้นหน้าบันปิดกระจกสี ส่วนลายจำหลักลงรักปิดทอง

ผนังพระที่นั่งภายนอกเขียนลายพุ่มข้าวบิณฑ์สีเหลืองบนพื้นดำ ผนังภายในเขียนเป็นภาพในสรวงสวรรค์ พระทวารและพระบัญชรเป็นบานกระจก

ด้านเหนือตรงพระทวารกลางของพระที่นั่ง มีเกยสำหรับประทับพระราชยาน ส่วนด้านตะวันตกมีเกยประทับพระคชาธาร [พฺระ-คะ-ชา-ทาน] หน้าเกยมีแท่นและเสาเบญพาด [เบน-ยะ-พาด]
สำหรับเทียบพระคชาธารในการพระราชพิธี ในบางโอกาสใช้เป็นมณฑลพิธี เช่น เป็นที่พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เสกน้ำสำหรับสรงพระมุรธาภิเษกในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

จำนวนการเข้าชม 2,316 ครั้ง