คำเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

อินทราภิเษก

อินทราภิเษก [อิน-ทฺรา-พิ-เสก]

อินทราภิเษก [อิน-ทฺรา-พิ-เสก] แปลว่า แต่งตั้งผู้เป็นใหญ่โดยทำพิธีรดน้ำ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ อินทราภิเษกมีลักษณะพิเศษ ๓ ประการ คือ
๑. พระอินทร์นำเอาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ [เคฺรื่อง-ราด-ชะ-กะ-กุด-ทะ-พัน] มาถวาย เมื่อจะได้ราชสมบัติ
๒. เสี่ยงราชรถมาจดฝ่าพระบาท และ ๓. เหาะเอาฉัตรทิพย์มากางกั้น นอกจากนั้น การที่พระเจ้าแผ่นดินทำพิธีราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่งเมื่อปราบพระเจ้าแผ่นดินอื่นให้อยู่ในอำนาจได้มาก
ก็เรียกว่า อินทราภิเษก คือ ทำพิธีแสดงว่าพระองค์เป็นใหญ่เหนือพระเจ้าแผ่นดินทั้งหลาย
ในกฎมณเฑียรบาล กล่าวถึงพระราชพิธีอินทราภิเษกว่า มีการตั้งเขาพระสุเมรุชักนาคดึกดำบรรพ์ [เขา-พฺระ-สุ-เมน-ชัก-นาก-ดึก-ดำ-บัน]
สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ [สม-เด็ด-พฺระ-มะ-หา-จัก-กฺระ-พัด] เคยมีพระราชพิธีอินทราภิเษก สมัยรัตนโกสินทร์ไม่เคยมีพระราชพิธีอินทราภิเษก
มีแต่ฉากเขียนลายรดน้ำภาพพระราชพิธีอินทราภิเษก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้น อยู่ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

จำนวนการเข้าชม 7,310 ครั้ง