คำเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

อุทุมพร

อุทุมพร

คำว่า อุทุมพร มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต อุทุมพร [อุ-ทุม-พะ-ระ] ซึ่งแปลว่าไม้มะเดื่อ ตำนานทางฝ่ายฮินดูกล่าวว่า ไม้มะเดื่อเป็นที่ประทับของเทพตรีมูรติ
ซึ่งหมายถึง พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ ไทยเราใช้ไม้มะเดื่อทำแท่นที่ประทับในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก [บอ-รม-มะ-รา-ชา-พิ-เสก]
มาตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังคำให้การชาวกรุงเก่ามีว่า “...พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงโปรดให้เอาไม้มะเดื่อนั้นมาทำตั่งสำหรับประทับสรงพระกระยาสนานในการมงคล เช่น พระราชพิธีราชาภิเษก เป็นต้น”
นอกจากนั้น ในคำอธิบายเรื่องพระศุนหเศป [พฺระ-สุน-หะ-เสบ] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า
“ผลอุทุมพรถือว่าเป็นผลไม้สำคัญ เพราะตัวต้นไม้เป็นที่นับถือ เป็นของสำหรับกันกับกษัตริย์ นอกจากตั่งภัทรบิฐ [พัด-ทฺระ-บิด]
ยังมีของอื่น ๆ ที่ทำด้วยไม้อุทุมพรเป็นเครื่องใช้ในงานราชาภิเษก คือ กระบวยที่ใช้ตักน้ำมันเจิมถวาย ก็ทำด้วยไม้อุทุมพร
และในโบราณกาล หม้อน้ำที่พวกกษัตริย์ใช้ถวายน้ำก็ทำด้วยไม้อุทุมพร”

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

จำนวนการเข้าชม 5,046 ครั้ง