คำเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

“กระบวน” และ “ขบวน” (๑)

“กระบวน” และ “ขบวน” (๑)

ในสมัยอยุธยา การเสด็จพระราชดำเนินโดยทางชลมารคของพระมหากษัตริย์ พบการใช้คำว่า “กระบวน” เช่น ครั้งสมเด็จพระเอกาทศรถ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๗ โปรดให้จัดกระบวนเรือเป็นกระบวนใหญ่
เพื่อฉลองพระพุทธรูปประจำพระองค์ที่โปรดให้สร้างขึ้น ๕ องค์ การจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่ยิ่งใหญ่
คือกระบวนพยุหยาตราเพชรพวง ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้จัดรับพระราชสาส์นจากพระเจ้าหลุยส์
ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงอธิบายไว้ใน “สาส์นสมเด็จ” ความตอนหนึ่งว่า
“กระบวนเพชรพวงของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนี้ควรนับว่าได้วางริ้วกระบวนไว้เป็น ๕ สาย คือ สายกลางเป็นริ้วเรือพระที่นั่ง สายในทั้งซ้ายขวาเป็นริ้วเรือแห่ สายนอกทั้งซ้ายขวาเป็นริ้วเรือกัน”

          ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์พบการใช้ทั้งคำว่า “กระบวน” และ “ขบวน” เช่น ในสมัยรัชกาลที่ ๔
พบการใช้คำว่า “กระบวน” ในพระราชพงศาวดาร การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางชลมารค
เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๔  ความตอนหนึ่งว่า “...ให้เคลื่อนพยุหกระบวนแห่ยาตราเรือพระที่นั่งไปถึง
วัดอรุณราชวราราม” ซึ่งในสมัยเดียวกัน ในราชกิจจานุเบกษา รัชกาลที่ ๔ พบการใช้คำว่า
“ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” ในการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานพระกฐิน ความตอนหนึ่งว่า
“...เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทรงเรือพระที่นั่งศรีประภัศรไชย...”
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

จำนวนการเข้าชม 1,409 ครั้ง